เงินตราชุมชนในชุมชนกุดชุม หนทางสู่ชุมชนเข้มแข็งและการพึ่งตนเอง

เรียบเรียงโดย โครงการระบบเงินตราชุมขน

สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

1. แนะนำระบบเงินตราชุมชน

เงินตราชุมชนคืออะไร?

เงินตราชุมชน (Community Currency) คือสื่อที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการของสมาชิกในชุมชน ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเองโดยชุมชน โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้

1)       ใช้ได้เฉพาะในชุมชนที่จำกัด ซึ่งได้มีข้อตกลงการจัดการระบบเงินตราชุมชนของชุมชนนั้นๆ

2)       ปลอดดอกเบี้ย

3)       ใช้ควบคู่กับเงินตราประจำชาติ

ปัจจุบันมีชุมชนที่ใช้ระบบเงินตราชุมชนของตนเองประมาณ 2,000 ระบบ ใน 40 ประเทศทั่วโลก เช่นแคนาดา สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอแลนด์ เยอรมันนี ออสเตรเลีย เม็กซิโก อาร์เจนติน่า ฯลฯรูปแบบของระบบเงินตราชุมชนที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถจำแนกได้เป็น 4 รูปแบบคือ (1) ระบบจดบันทึกในสมุดบัญชี หรือระบบ LETS (2) ระบบธนบัตรท้องถิ่น (คูปอง) หรือระบบ HOURS (3) ระบบผสมระหว่างระบบจดบันทึกในสมุดบัญชีกับระบบคูปอง (4) ธนาคารบริการชุมชน หรือระบบ Time Dollars (ดูรายละเอียดในภาคผนวกที่ 1)

สำหรับมูลค่าของเงินตราชุมชนนั้นจะถูกกำหนดโดยสมาชิกในชุมชน ซึ่งจะต่างกันไปตามแต่ละชุมชน มูลค่าของเงินตราชุมชนอาจจะผูกกับค่าเงินประจำชาติ, เท่ากับชั่วโมงการทำงาน หรือถูกกำหนดในระหว่างการแลกเปลี่ยนของสมาชิก

ทำไมจึงมีระบบเงินตราชุมชน?

            แนวคิดและการพัฒนาระบบเงินตราชุมชนได้เริ่มมาจากชุมชนในประเทศตะวันตกซึ่งประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างไปตามบริบทของชุมชนนั้นๆ ในความพยายามต่อสู้กับปัญหาและหาทางออกให้แก่ชุมชนของตนเอง ระบบเงินตราชุมชนก็ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของชุมชน ตัวอย่างเช่น ระบบ LETS ซึ่งถูกคิดขึ้นมาโดย ไมเคิล ลินตัน (Michael Linton) ในปีพ.. 2526 และเริ่มใช้ที่โคมอกซ์ วัลเลย์ (Comox Valley) เมืองคอร์ทีเนย์ (Courtenay) แคว้นบริติช โคลัมเบีย (British Columbia) ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมการตัดไม้ เมื่ออุตสาหกรรมประสบปัญหาขึ้น จึงทำให้เกิดปัญหาคนว่างงานตามมา ทั้งๆที่คนในชุมชนมีศักยภาพในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อไม่การจ้างงานและมีความขาดแคลนเงินในชุมชน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านั้นหยุดชะงัก  ไมเคิล ลินตัน จึงได้คิดระบบการแลกเปลี่ยนขึ้นในชุมชน เรียกว่าระบบ Local Employment and Trading System หรือ LETS ซึ่งสมาชิกของระบบสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าโดยใช้ระบบเครดิต (ดูรายละเอียดภาคผนวกที่ 1) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในชุมชนดำเนินต่อไปได้ เป็นการบรรเทาปัญหาการว่างงานและการขาดแคลนสื่อที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนได้

ประโยชน์ของระบบเงินตราชุมชน

ระบบเงินตราชุมชนสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนได้หลายทางดังนี้

§        ระบบเงินตราชุมชนช่วยให้ชุมชนมีอำนาจและอิสระในการจัดการเศรษฐกิจของตนเองได้มากขึ้น เพราะชุมชนเป็นอิสระจากปัจจัยด้านเงินซึ่งต้องหามาจากนอกชุมชน ดังนั้นชุมชนจึงสามารถวางแผนการผลิตสินค้าหรือการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการกระตุ้นการผลิตสินค้าและให้บริการภายในชุมชน และก่อให้เกิดการขยายการสร้างงานและการจ้างงานในชุมชนตามมา

§        ระบบเงินตราชุมชนช่วยก่อให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรในชุมชน ลดการไหลออกของทรัพยากรท้องถิ่นสู่ภายนอก เช่นคน สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเมื่อชุมชนใช้เงินตราชุมชนเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในชุมชน จะทำให้ทรัพยากรท้องถิ่นซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ หมุนเวียนอยู่ในชุมชนมากขึ้น เพราะเงินตราชุมชนนี้ใช้ในการแลกเปลี่ยนในชุมชนเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้นอกชุมชนได้

§        ระบบเงินตราชุมชนช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจภายนอกและค่าเงินในระดับประเทศ ภูมิภาค หรือโลกที่มีต่อชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนเบาะกันกระแทก (buffer) ของชุมชนที่ลดทอนความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดจากภายนอก เนื่องจากชุมชนลดการผูกติดและพึ่งพากับเงินตราในระบบและมีระบบแลกเปลี่ยนภายในของชุมชนเอง

§        การที่ระบบเงินตราชุมชนไม่มีดอกเบี้ยเป็นการลดภาระให้กับสมาชิกในชุมชนที่จะต้องหาเงินมาใช้ดอกเบี้ยของเงินที่กู้ยืมมา โดยจะมีประโยชน์มากสำหรับคนจน เพราะคนที่ขาดแคลนเงินตรากระแสหลักก็คือผู้มีรายได้น้อยหรือคนจน ซึ่งระบบดอกเบี้ยมีผลทำให้คนจน ผู้มีรายได้น้อยที่กู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ ตกอยู่ในวงจรหนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด อีกประการหนึ่งการที่ไม่มีดอกเบี้ยในระบบเงินตราชุมชนช่วยให้มีการหมุนเวียนของเงินตราชุมชนเร็วขึ้น เนื่องจากไม่มีผลตอบแทน(ดอกเบี้ย)ในการสะสมเอาไว้ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการผลิตและแลกเปลี่ยนในชุมชน  และการใช้เงินตราชุมชนควบคู่กับเงินตรากระแสหลักในการแลกเปลี่ยนก็จะช่วยการหมุนเวียนของเงินตรากระแสหลักเร็วขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมอีกทางหนึ่ง

§        ระบบเงินตราชุมชนยังช่วยให้ชุมชนเป็นอิสระจากการกำหนดมูลค่าของสิ่งต่างๆจากระบบตลาดภายนอก โดยระบบเงินตราชุมชนจะเป็นกลไกให้ชุมชนสามารถกำหนดคุณค่าและมูลค่าของสิ่งต่างๆ ในชุมชน นอกจากนี้เงินตราชุมชนสามารถถูกใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนในด้านสังคม กล่าวคือชุมชนสามารถให้ค่ากับกิจกรรมที่ไม่ถูกให้ค่าในระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก โดยใช้เงินตราชุมชนเป็นค่าตอบแทน เช่นงานบ้านของผู้หญิง การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การแพทย์แผนไทย  รวมถึงกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรม เช่นการถ่ายทอดศิลปะพื้นบ้าน

§        เกิดการพัฒนาธุรกิจชุมชน ระบบเงินตราชุมชนทำให้โอกาสในการลงทุนริเริ่มธุรกิจเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น โดยคนที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจของตนเองสามารถลดการพึ่งพิงเงินทุนที่ต้องกู้จากแหล่งเงินกู้ โดยใช้เงินตราชุมชนในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่จำเป็นในการก่อตั้งธุรกิจของตนเอง อีกทั้งยังไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ย ตัวอย่างเช่นการเปิดร้านอาหารที่เจ้าของร้านได้ใช้เงินตราชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนแรงงานและสินค้าในชุมชน เพื่อก่อสร้างและเตรียมการที่จะเปิดร้านอาหาร เมื่อร้านอาหารเปิด แรงงานเหล่านั้นก็สามารถนำเงินตราชุมชนมาซื้ออาหารจากร้านได้

§        สร้างความเข้มแข็งในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชน เพราะระบบเงินตราชุมชนที่เกิดขึ้นเป็นการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางสังคมเกิดจากการได้ทำงานร่วมกันของสมาชิกในชุมชน โดยผ่านกระบวนการประชุมสมาชิกและคณะทำงาน

§        ระบบเงินตราชุมชนเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน ในเรื่องระบบเศรษฐกิจในชุมชนและความเชื่อมโยงระหว่างระบบเศรษฐกิจภายในและภายนอกชุมชน  การบริหารจัดการระบบทำให้ชุมชนรู้จักการประเมินผลของการดำเนินงาน สรุปบทเรียนและแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหา

2. การศึกษา พัฒนาและเผยแพร่ระบบเงินตราชุมชนในประเทศไทย

วิกฤตการเงินของประเทศไทยเมื่อปี 2540 และได้ขยายตัวเป็นวิกฤตเศรษฐกิจในเวลาต่อมา ทำให้เกิดผลกระทบทางลบกับหลายส่วนๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ธุรกิจเอกชนในหลายสาขา ซึ่งมีผลทำให้พนักงานของบริษัทธุรกิจและสถาบันการเงิน รวมทั้งแรงงานในโรงงานจำนวนหนึ่งถูกเลิกจ้าง หมู่บ้านในชนบทและการผลิตในภาคเกษตรถูกมองว่าเป็นฐานที่จะรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างที่มีพื้นเพจากชนบท อย่างไรก็ตามภาคชนบทเองก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว ตัวอย่างเช่นเงินที่ถูกส่งมาจากเมืองสู่ชนบทลดน้อยลงเมื่อลูกหลานที่เข้าไปทำงานในเมืองถูกเลิกจ้าง และจากการที่ค่าเงินบาทลอยตัวทำให้ชาวบ้านต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น เช่นน้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ยเคมีซึ่งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ นอกจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบกับชนบทแล้ว หากพิจารณาระยะ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา แนวทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งการส่งเสริมการส่งออกและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมได้ทำให้เกิดการดูดทรัพยากรจากชนบทเข้าไปตอบสนองการเจริญเติบโตตามแนวทางการพัฒนาของประเทศ

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแนวทางการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ทำให้หลายๆส่วนของสังคมมีแนวคิดตรงกันว่าควรจะเน้นการพัฒนาที่เพิ่มศักยภาพของชุมชนให้พึ่งตนเองได้ ดังนั้นจึงเกิดการเคลื่อนไหวจากทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชน สนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อสร้างฐานของชุมชนให้เข้มแข็ง ทั้งทางด้านคน สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติ  การสร้างระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างสมาชิกในชุมชนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เข้ามาช่วยเสริมกระบวนการพึ่งตนเองของชุมชน เพราะทำให้เกิดการหมุนเวียนทุนและทรัพยากรอยู่ในชุมชน เป็นการลดการไหลออกของทรัพยากรท้องถิ่น และเป็นการกระตุ้นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน     อย่างไรก็ตามการที่ชุมชนใช้เงินประจำชาติ (เงินบาท) เพียงอย่างเดียวในการแลกเปลี่ยนยังมีข้อจำกัดหลายประการ กล่าวคือในกรณีที่ชุมชนมีสินค้าและบริการที่จะแลกเปลี่ยนกันแต่ขาดแคลนเงินบาทในชุมชน ทำให้ไม่สามารถจะแลกเปลี่ยนกันได้ อีกประการหนึ่งคือเงินบาทสะดวกต่อการไหลออกจากชุมชน และค่าเงินบาทจะถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอก เช่นสถานการณ์การเงินระดับโลกหรือการเก็งกำไรค่าเงิน ฉะนั้นเงินบาทที่หมุนเวียนอยู่ในชุมชนจะมีค่าขึ้นหรือลงอยู่นอกเหนือการควบคุมของชุมชน  เครื่องมืออันหนึ่งที่ช่วยให้ชุมชนสามารถสร้างระบบการแลกเปลี่ยนในชุมชนซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งตนเองได้คือระบบเงินตราชุมชน

การศึกษา พัฒนาและเผยแพร่ระบบเงินตราชุมชนในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2540  ภายใต้โครงการระบบเงินตราชุมชน (Thai Community Currency Systems Project) ดำเนินการโดยสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิญี่ปุ่น หน่วยงานอาสาสมัครแคนาดา (CUSO) หน่วยงานอาสาสมัครอังกฤษ (VSO) โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (Focus on the  Global South) โดยโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อ

·        ศึกษาระบบเศรษฐกิจทางเลือกซึ่งมุ่งเน้นการพึ่งตนเองของชุมชนทั้งในบริบทของไทยและต่างประเทศ

·        แลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องบทบาทของระบบเงินตราชุมชนในการพัฒนา ระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

·        พัฒนาและประเมินผลระบบเงินตราชุมชนไทยที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ในการทำงานพัฒนาชุมชนขององค์กรพัฒนาเอกชนไทย และประสบการณ์ในการดำเนินงานระบบเงินตราชุมชนขององค์กรระหว่างประเทศ

·        เผยแพร่ข้อมูลและประสบการณ์ของการจัดตั้งระบบเงินตราชุมชนในประเทศไทย และขยายผลในชุมชนอื่นๆ ทั้งในประเทศและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในส่วนของการดำเนินงานนั้น โครงการฯ ได้ประสานงานกับนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีความสนใจกับระบบเงินตราชุมชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานโครงการ เช่น สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน คณะกรรมการเผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน เสมสิกขาลัย มูลนิธิสุขภาพไทย คณะกรรมศาสนาเพื่อการพัฒนา และมูลนิธิพัฒนาเด็ก

การดำเนินโครงการแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ

ระยะแรก ศึกษาระบบเงินตราชุมชนในต่างประเทศและระบบเศรษฐกิจทางเลือกในประเทศไทย  ในระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2541 โครงการฯ ได้ศึกษาแนวคิดพื้นฐาน การบริหารจัดการ ประโยชน์ อุปสรรคของระบบเงินตราชุมชนที่ใช้ในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ  หลังจากนั้นโครงการฯ ยังได้ศึกษากิจกรรมในระบบเศรษฐกิจทางเลือกในประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมอยู่ในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน  ธนาคารมุสลิม ประเพณีการลงแขก และชุมชนอโศก  ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจกับระบบเงินตราชุมชนจากประสบการณ์ในต่างประเทศและกิจกรรมในระบบเศรษฐกิจทางเลือกในประเทศไทย  เพื่อวิเคราะห์หายุทธศาตร์ที่เหมาะสมที่จะเผยแพร่ระบบเงินตราชุมชนในประเทศไทยต่อไป

ระยะที่สอง เผยแพร่แนวคิดเรื่องระบบเงินตราชุมชนและคัดเลือกชุมชนเพื่อจัดตั้งระบบเงินตราชุมชน โครงการฯ ได้จัดเสวนากับกลุ่มนักวิชาการถึงปัญหาของการพัฒนาในปัจจุบันที่มีต่อชุมชนและทางออก  และโครงการฯ ยังได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในภาคต่างๆ ของประเทศไทย อันได้แก่ภาคใต้ (วันที่ 3-5 สิงหาคม 2541 ที่จังหวัดสงขลา) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (วันที่ 21-23 กันยายน 2541 ที่จังหวัดสุรินทร์) และภาคเหนือ (วันที่ 16-17 ตุลาคม 2542 ที่จังหวัดเชียงใหม่) เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องผลกระทบของระบบเศรษฐกิจภายนอกต่อชุมชน และเพื่อแนะนำ เผยแพร่แนวคิดและวิธีการทำงานของระบบเงินตราชุมชน  โดยมีตัวแทนกลุ่มองค์กรชุมชน นักพัฒนา และนักวิชาการเข้าร่วม  จากการสัมมนาดังกล่าว ตัวแทนจากองค์กรชุมชนที่ร่วมสัมมนาได้ให้ความสนใจที่จัดทำระบบเงินตราชุมชนขึ้นในชุมชนของตนเองทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้  และได้กลับไปปรึกษาหารือกับสมาชิกในชุมชน  ผลปรากฏว่ากลุ่มองค์กรชุมชนจากอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร มีความสนใจและต้องการที่จะจัดทำระบบเงินตราชุมชนขึ้นในชุมชนของตนเอง  เมื่อเจ้าหน้าที่โครงการฯ ได้เข้าไปสำรวจชุมชนแล้วเห็นว่า ชุมชนมีความพร้อมในหลายด้าน กล่าวคือชุมชนมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันเพื่อการพึ่งตนเองมาเป็นเวลานาน มีผู้นำและกลุ่มองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง มีการผลิตที่หลากหลายในชุมชน (เช่น โรงสีข้าว กลุ่มผลิตนมถั่วเหลือง กลุ่มผลิตแชมพูและน้ำยาล้างจาน ศูนย์สุขภาพ กลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน ฯลฯ) ดังนั้นโครงการฯ จึงได้ให้การสนับสนุนกับชาวบ้านในการจัดตั้งระบบเงินตราชุมชนขึ้นที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

สำหรับการเผยแพร่แนวคิดและสร้างความเข้าใจเรื่องระบบเงินตราชุมชนนั้น โครงการฯ ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง  โดยเจ้าหน้าที่โครงการฯ ได้รับเชิญไปบรรยายและจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจเรื่องระบบเงินตราชุมชนจากองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และองค์กรต่างๆ  เช่นสมัชชาคนจน, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA), สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จังหวัดยโสธร ฯลฯ นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้เผยแพร่แนวคิดเรื่องระบบเงินตราชุมชนผ่านสื่อต่างๆ ในรูปแบบของบทความในสิ่งพิมพ์ต่างๆ และอินเตอร์เน็ต

ระยะที่สาม จัดตั้งระบบเงินตราชุมชนในชุมชน หลังจากได้ตกลงร่วมกันระหว่างแกนนำในชุมชนกับโครงการฯ ที่จะจัดตั้งระบบเงินตราชุมชนขึ้นในชุมชน เจ้าหน้าที่โครงการฯ ก็ได้เข้าพื้นที่เพื่อศึกษากิจกรรมในด้านงานพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชนและวัฒนธรรมประเพณี จากนั้นได้จัดเวทีประชุมในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องแนวคิดและวิธีการทำงานของระบบเงินตราชุมชนให้แก่สมาชิกในชุมชน พร้อมกับค้นหาผู้ที่มีความสนใจจะเข้าร่วมจัดตั้งระบบเงินตราชุมชน  ในที่สุดมี 5 หมู่บ้านตกลงที่จะร่วมกันจัดทำระบบเงินตราชุมชนขึ้น และได้มีตัวแทนจาก 5 หมู่บ้านเป็นคณะทำงานจำนวน 14 คน โดยได้ร่วมกันทำงานกับโครงการฯ เพื่อพัฒนารูปแบบของระบบเงินตราชุมชน กำหนดวัตถุประสงค์ การออกแบบบัตร วางแผนและนโยบายการจัดการระบบ  โดยเรียกเงินตราชุมชนที่ตั้งขึ้นว่า “เบี้ยกุดชุม”

            ระยะที่สี่ ติดตาม ประเมินผล พัฒนาระบบเงินตราชุมชน และขยายผลในชุมชนอื่น โครงการฯ ได้วางแผนที่จะติดตามและประเมินผล  หลังจากที่ชุมชนได้ใช้เงินตราชุมชนไประยะหนึ่ง และนำผลการประเมินมาพัฒนาระบบเงินตราชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการวางแผนการผลิตสินค้าและบริการในชุมชนที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนและใช้ทรัพยากรท้องถิ่นหมุนเวียนอยู่ในชุมชน  ในขณะเดียวกันในกรณีที่มีชุมชนอื่นมีความสนใจที่จะจัดทำระบบเงินตราชุมชนขึ้น โครงการฯ ก็สามารถสนับสนุนจัดตั้งระบบเงินตราชุมชนได้  อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในระยะที่สี่ยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้วินิจฉัยว่าการใช้เบี้ยกุดชุมนั้นเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย 2 มาตรา กล่าวคือเป็นการทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกวัตถุแทนเงินตราโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อันเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ..2501  และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ..2505 ที่ว่าบุคคลใดนอกจากธนาคารพาณิชย์จะใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า”ธนาคาร” มิได้

            หลังจากทราบผลการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย คณะทำงานเบี้ยจึงได้มีมติให้ระงับใช้เบี้ยชั่วคราว และเปลี่ยนชื่อจาก”ธนาคารเบี้ยกุดชุม” เป็น “กลุ่มพัฒนาชุมชนพึ่งตนเอง” และได้ขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความในการยื่นเรื่องถึงกระทรวงการคลังเพื่อให้พิจารณากรณีเบี้ยกุดชุมใหม่อีกครั้ง

3. ระบบเงินตราชุมชนในประเทศไทย: ประสบการณ์จากกุดชุม

งานพัฒนาในชุมชน อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

            ชุมชนตำบลนาโส่และชุมชนใกล้เคียงได้มีประสบการณ์ในงานพัฒนามายาวนาน ซึ่งครอบคลุมหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ศาสนา สาธารณสุข ฯลฯ โดยกิจกรรมต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้

กองทุนร้านค้าชุมชน

ในปี 2523 กลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้านบ้านโสกขุมปูน ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุมได้รวมกลุ่มกันลงหุ้นก่อตั้งร้านค้าชุมชนขึ้นเพื่อนำสินค้ามาขายให้กับสมาชิกในชุมชน โดยมีการบริหารโดยชาวบ้าน เมื่อสิ้นปีจะมีการปันผลให้กับสมาชิก ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจชุมชน ต่อมารูปแบบร้านค้าชุมชนได้กระจายไปในหมู่บ้านต่างๆ

จากการที่กองทุนร้านชุมชนเกิดขึ้นในหมู่บ้านต่างๆ ในปี 2541 ชุมชนได้ริเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อตั้งศูนย์สาธิตเครือข่ายร้านค้าชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการซื้อสินค้าจากนอกชุมชนมาจำหน่ายให้แก่ร้านค้าชุมชนในราคาถูก เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าที่ผลิตขึ้นในหมู่บ้านหนึ่งไปตามร้านค้าชุมชนอื่นๆ และเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือ คำปรึกษาแก่ร้านค้าชุมชนในด้านการบริหารงาน การทำบัญชี  หลังจากนั้นในปี 2542 ศูนย์สาธิตเครือข่ายร้านค้าชุมชนก็ได้ถูกตั้งขึ้น โดยมีการลงหุ้นจากร้านค้าชุมชนจำนวน 48 ร้านค้า ในอำเภอกุดชุมและอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร

กองทุนยาประจำหมู่บ้าน

ในปี 2525 เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลกุดชุม คือคุณชุจิรา มิทราวงศ์ ได้ร่วมกับชาวบ้านตั้งกองทุนยาหมู่บ้านขึ้น โดยให้ชาวบ้านลงหุ้นคนละ 10 บาท ได้เงินประมาณ 1,200 บาท มีการซื้อยาสามัญประจำบ้านมาจำหน่ายให้กับสมาชิกในหมู่บ้าน เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งจึงมีการสรุปผลการดำเนินงาน ซึ่งพบว่าชาวบ้านมีพฤติกรรมใช้ยาฟุ่มเฟือยเนื่องจากสะดวกในการซื้อ ซื้อยากินเองโดยขาดความรู้ความเข้าใจซึ่งบางครั้งทำให้เกิดการแพ้ยาหรือผลข้างเคียง นอกจากนี้ยามีราคาแพงเมื่อเทียบกับรายได้ของชาวบ้าน  จากผลของการดำเนินงานทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่ากองทุนยาหมู่บ้านได้ช่วยแก้ปัญหาของชาวบ้านจริงหรือไม่  นอกจากนี้ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลยังประสบปัญหาในการเดินทางไปโรงพยาบาล ดังนั้นจึงเกิดความคิดที่จะฟื้นฟูและส่งเสริมบทบาทของหมอยาพื้นบ้านเพื่อดูแลสุขภาพของคนในท้องถิ่นขึ้น

ชมรมหมอยาพื้นบ้านและผู้สนใจสมุนไพร อำเภอกุดชุม 

            เจ้าหน้าที่ทำงานด้านสาธารณสุขมูลฐานของโรงพยาบาลกุดชุมคือ คุณชุจิรา มิทราวงศ์ เป็นผู้ริเริ่ม และประสานงานกับกลุ่มข้าราชการครูในท้องถิ่น หมอยาพื้นบ้าน และชาวบ้านผู้สนใจ เพื่อก่อตั้งชมรมหมอยาพื้นบ้านและผู้สนใจสมุนไพร อำเภอกุดชุม ซึ่งก่อตั้งในวันที่ 12 มีนาคม 2526 เพื่อเป็นการฟื้นฟูบทบาทของหมอยาพื้นบ้านและส่งเสริมการใช้สมุนไพรในการบำบัดการเจ็บไข้ของคนในชุมชน ซึ่งจะส่งเสริมการพึ่งตนเองของชาวบ้านในการรักษาโรคด้วยทรัพยากรในท้องถิ่น ในระยะต่อมาทางชมรมฯ ก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง และสถาบันแพทย์แผนไทย  โดยกิจกรรมของชมรมฯ ประกอบไปด้วยการให้ความรู้เรื่องสมุนไพรและส่งเสริมการใช้สมุนไพร การจัดทำสวนสมุนไพรและส่งเสริมให้มีการปลูกสมุนไพรในชุมชน การศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนกับผู้รู้จากพื้นที่ต่างๆ ในเรื่องสมุนไพร นอกจากนี้ยังได้ถวายความรู้ในเรื่องสมุนไพรให้แก่พระสงฆ์อีกด้วย

กลุ่มสังฆอาสาพัฒนา

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2527 โรงพยาบาลกุดชุมได้จัดถวายความรู้แก่พระภิกษุในเรื่อง “สมุนไพรกับงานสาธารณสุขมูลฐาน” โดยมีพระภิกษุจากอำเภอกุดชุมและเขตพื้นที่ใกล้เคียง เข้าร่วมอบรม การอบรมครั้งนี้ทำให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องในเรื่องบทบาทของพระสงฆ์ในด้านการพัฒนาของชุมชน กล่าวคือเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มพระสงฆ์ ซึ่งทำให้พระสงฆ์ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นพระภิกษุหลายรูปได้นำสมุนไพรไปปลูกและขยายพันธุ์ในวัด ซึ่งวัดบางแห่งได้ตั้งเป็นศูนย์สมุนไพร มีบทบาทในการดูแลสุขภาพของชุมชนด้านแพทย์พื้นบ้าน  ต่อมาในปี 2534 การทำงานรวมกลุ่มของพระสงฆ์นี้ ได้ตั้งชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มสังฆอาสาพัฒนา อำเภอกุดชุม”

โครงการทอดผ้าป่าพันธุ์ไม้สู่ชาวอีสาน

ในปี 2529 หลังจากที่ได้ร่วมกิจกรรมด้านสมุนไพรมาระยะหนึ่ง สมาชิกบางกลุ่มมีความรู้สึกว่าต้องการขยายการพึ่งตนเองไปในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งมีการสรุปบทเรียนว่าปัญหาสุขภาพของชาวบ้านยังคงอยู่ ถึงแม้จะมีกลุ่มหมอยาพื้นบ้านหรือกองทุนยาสมัยใหม่ ต้นตอของปัญหาน่าจะมาจากการบริโภค ซึ่งพบว่ามีการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ดังนั้นชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเริ่มคิดทำเกษตรทางเลือก เช่นเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดสารเคมี เพื่อผลิตข้าวที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเองและครอบครัว

ต่อมาเพื่อเป็นการส่งเสริมการทำเกษตรทางเลือกของชาวบ้าน ในปี 2532 ได้มีการจัดโครงการทอดผ้าป่าพันธุ์ไม้สู่ชาวอีสานขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ต่างๆ และเงินที่มีผู้ร่วมทำบุญอีกจำนวนกว่าสามแสนบาท ที่วัดท่าลาด ตำบลนาโส่ เพื่อเป็นการสนับสนุนการตั้งกองทุนพันธุ์ไม้และการพัฒนาแหล่งน้ำในอำเภอกุดชุม โดยสมาชิกในชุมชนได้รับแจกพันธุ์ไม้ที่ได้จากการทอดผ้าป่าและสามารถกู้เงินจากกองทุนเพื่อนำไปขุดสระน้ำและการพัฒนาการทำเกษตรเพื่อการพึ่งตนเองได้

โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชน

ชมรมหมอยาพื้นบ้านและผู้สนใจสมุนไพรอำเภอกุดชุมได้เป็นแกนนำของชุมชนในการดูแลและนำพืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้ต่างๆ ไปปลูกเสริมในผืนป่าสาธารณะเนื้อที่ 80 ไร่ ซึ่งอยู่ในเขตติดต่อของบ้านหนองแคนกับบ้านหนองผือน้อย มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ป่าผืนนี้เอาไว้ให้เป็นป่าสมบูรณ์ และสร้างจิตสำนึกร่วมกันของชุมชนในการดูแลป่า ในปี 2533 ป่าผืนนี้ได้รับการประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ของชุมชน เรียกว่าป่าอนุรักษ์หนองแคน โดยอยู่ในความดูแลของ 11 หมู่บ้านในตำบลนาโส่ จิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ป่าได้แพร่ขยายไปในตำบลต่างๆ เช่นชมรมหมอยาพื้นบ้านและผู้สนใจสมุนไพร อำเภอกุดชุมได้รวบรวมเงินซื้อพื้นที่ป่าดงปอ บ้านสุขเกษม ตำบลโนนเปือย จำนวน 21ไร่ ในปี 2542 เพื่อเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชุมชน และชุมชนในเขตตำบลนาโส่และตำบลอื่นๆ ได้ช่วยกันดูแลรักษาป่าในพื้นที่ เช่นป่าสาธารณะ ป่าดอนปู่ตา ป่าหัวไร่ปลายนา  นอกจากนี้กลุ่มสังฆอาสาพัฒนายังได้เป็นแกนนำในการอนุรักษ์ป่า โดยร่วมกับชาวบ้านอนุรักษ์ป่าช้าและป่าดอนปู่ตาใน 7 หมู่บ้าน คือ บ้านท่าลาด บ้านนาโส่ บ้านโคกสำราญ บ้านนาซึม บ้านชัยชนะ บ้านกุดแดง บ้านดงเย็น

ศูนย์สุขภาพแผนไทยในชุมชนท่าลาด

จากการตั้งชมรมหมอยาพื้นบ้านและผู้สนใจสมุนไพรในปี 2526 ทำให้เกิดการฟื้นฟูการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้านและการใช้สมุนไพรในอำเภอกุดชุม ต่อมาศูนย์สุขภาพแผนไทยได้ถูกตั้งขึ้นที่วัดท่าลาดในปี 2533 โดยการร่วมมือจากภายในชุมชน คือพระครูสุภาจารวัฒน์  และกลุ่มชาวบ้าน และจากภายนอกชุมชนคือเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธรและโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง  กิจกรรมของศูนย์สุขภาพในช่วงระหว่างปี2533 – 2539 ประกอบไปด้วยพัฒนาสวนสมุนไพร โดยการรวบรวมและกระจายพันธุ์สมุนไพร สร้างห้อง อบสมุนไพร ผลิตยาสมุนไพร เป็นแหล่งศึกษาดูงานและเผยแพร่ความรู้ด้านสมุนไพร ต่อมาในปี 2539 สถาบันแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้ามาสนับสนุนศูนย์ฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการผลิตยาสมุนไพร โดยพัฒนาให้เป็นศูนย์วัตถุดิบสมุนไพร ศูนย์ฯ จึงได้มีกิจกรรมเพิ่มเติม คือส่งเสริมการปลูกสมุนไพร รับซื้อและควบคุมวัตถุดิบสมุนไพร  การบริหารงานของศูนย์ฯ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรรมการบริหาร ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชน พระสงฆ์ ข้าราชการท้องถิ่น และมูลนิธิสุขภาพไทย (โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง)

โรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติ

โรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2534 จากการร่วมทุนของเกษตรกรในอำเภอกุดชุม และชาวกรุงเทพฯที่ต้องการสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรมีโรงสีข้าวของตนเอง โดยมีการช่วยเหลือและสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนคือ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง และชมรมเพื่อนธรรมชาติ โรงสีมุ่งที่จะผลิตข้าวปลอดสารพิษอย่างครบวงจร และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์อีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงสีข้าวแห่งแรกในประเทศไทยที่ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์อย่างครบวงจร จนกระทั่งสามารถส่งออกข้าวอินทรีย์ไปยังประเทศแถบยุโรปได้สำเร็จ การก่อตั้งโรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาตินี้ทำให้เกษตรกรขายข้าวเปลือกได้ราคาเพิ่มขึ้นและไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง สร้างการจ้างงานขึ้นในชุมชน (คือมีการจ้างแรงงานมาทำงานในโรงสี) และได้สร้างกระบวนการเรียนรู้การทำธุรกิจให้แก่ชุมชน

กลุ่มธุรกิจชุมชนขนาดเล็ก
ในชุมชนตำบลนาโส่ และชุมชนใกล้เคียง ยังมีกลุ่มธุรกิจชุมชนขนาดเล็กต่างๆ ที่ทำการผลิตสินค้าหลากหลายเพื่อจำหน่ายในและนอกชุมชน เช่นกลุ่มแม่บ้านบ้านสันติสุขซึ่งผลิตนมถั่วเหลืองเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกในชุมชนมาตั้งแต่ปี 2539 และต่อมาในปลายปี 2542 ได้ทำการผลิตแชมพูสมุนไพรและน้ำยาล้างจาน แม่บ้านบ้านโสกขุมปูนรวมกลุ่มกันทอผ้าสีธรรมชาติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2539 โดยจำหน่ายทั้งในและนอกหมู่บ้าน กลุ่มแม่บ้านบ้านโคกกลางได้ทำการผลิตกระติ๊บข้าวในปี 2543 โดยส่งให้ศูนย์สาธิตเครือข่ายร้านค้าชุมชน นอกจากนี้แม่บ้านบ้านสันติสุขและบ้านโสกขุมปูนยังทำหมอนขิดเพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายนอกหมู่บ้าน
กลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน

จากการสรุปบทเรียนการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดสารพิษของชาวบ้านพบว่าระบบการเกษตรยังเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวอยู่มาก(คือปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว) ซึ่งทำให้ระดับการพึ่งตนเองของชาวบ้านยังอยู่ในวงจำกัด จึงได้มีการรวมตัวของชาวบ้านจำนวน 15 ครอบครัว จาก 5 หมู่บ้านในอำเภอกุดชุมตั้งกลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินขึ้น ในเดือนมิถุนายน 2541 โดยเน้นการทำกิจกรรมพึ่งตนเอง เพื่อเป็นแม่แบบให้แก่ชาวบ้านในชุมชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ(ทำการเกษตรปลอดสารเคมีและมีการผลิตที่หลากหลาย และมีการแลกเปลี่ยน ลดปัญหาหนี้สิน) สุขภาพ(ดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นได้) ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม(อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน) จิตใจ(รักษาศีล ละอบายมุข ไม่ฟุ่มเฟือย) ประเพณีวัฒนธรรม(ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น) การศึกษา(ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้แก่คนรุ่นหลัง) และการเมืองท้องถิ่น(ตระหนักรู้ในสิทธิชุมชน ส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจกิจกรรมของกลุ่มที่ได้ดำเนินการไปแล้วได้แก่ การแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิก เช่น พันธุ์ไม้ เครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนแรงงาน คือการฟื้นฟูประเพณีการลงแขก นอกจากนี้สมาชิกได้ลงหุ้นกันคนละ 1,000 บาท เพื่อเป็นทุนยืมหมุนเวียนให้แก่สมาชิกที่ไม่มีทุนในการปรับปรุงการทำการเกษตร

เหลียวหลัง แลหน้า งานพัฒนากุดชุม

เพื่อเป็นการทบทวนและสรุปบทเรียน และหายุทธศาสตร์ในอนาคต จากความพยายามอันยาวนานที่จะพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองของชุมชนตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร และชุมชนใกล้เคียง ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงได้มีการจัดสัมมนาเรื่อง”เหลียวหลัง แลหน้า งานพัฒนากุดชุม”ขึ้น ในวันที่ 4-5 กันยายน 2542 ณ วิทยาลัยเกษตรกรรมปอแดง จังหวัดยโสธร โดยมีตัวแทนชาวบ้าน จาก 11 หมู่บ้านในอำเภอกุดชุมและอำเภอใกล้เคียง พระสงฆ์ นักพัฒนาในพื้นที่ เข้าร่วมสัมมนา

จากการร่วมกันวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในด้านดี เช่น การพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะต่างๆ เช่นถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โรงเรียน สถานพยาบาล มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและเครื่องใช้สมัยใหม่ เช่นเครื่องมือการเกษตร โทรทัศน์ วิทยุ รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ มีการพัฒนาด้านองค์กรชุมชน คือมีการรวมกลุ่มของชาวบ้าน  และมีการเปลี่ยนแปลงในด้านลบ เช่น มีหนี้สินเพิ่มขึ้น การพึ่งตนเองลดลง มีการซื้อกินมากขึ้น ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง เช่นการทำลายป่า การใช้สารเคมีในการเกษตร แหล่งอาหารตามธรรมชาติลดน้อย  มีการอพยพแรงงานออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน ความร่วมมือกับชุมชนน้อยลง เห็นแก่ตัวมากขึ้น มีปัญหายาเสพติด ชาวบ้านมีความเครียดมากขึ้น

เมื่อร่วมกันวิเคราะห์ถึงปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดที่ชุมชนเผชิญอยู่ขณะนี้และในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่ประชุมได้ชี้ถึง 4 ปัญหาตามลำดับความร้ายแรงมากไปหาน้อย คือ หนี้สิน สิ่งแวดล้อม ยาเสพติด ความขัดแย้ง หลังจากนั้นได้ร่วมกันวิเคราะห์ว่ากิจกรรมการรวมกลุ่มใดในชุมชนที่มีส่วนช่วยในการปลดเปลื้องหนี้สินมากที่สุด ผลปรากฎว่าอันดับหนึ่งคือ กลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน อันดับสองคือกองทุนร้านค้าชุมชน และอันดับสามคือโรงสี  โดยเห็นว่ากิจกรรมของกลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินช่วยควบคุมรายจ่ายในชีวิตประจำวันให้อยู่ในความพอดี และลดการพึ่งพาระบบตลาดที่ชุมชนควบคุมไม่ได้  และเสนอแนะว่าควรปรับปรุงกิจกรรมของกลุ่มฯ ให้มีการสร้างระบบแลกเปลี่ยนในวงที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเสนอกิจกรรมอื่นๆที่ช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน อันประกอบไปด้วย กิจกรรมเศรษฐกิจชุมชน กิจกรรมพัฒนาอาชีพ กิจกรรมวัฒนธรรมและศาสนา กิจกรรรมการเรียนรู้ และการจัดการทรัพยากร

จะเห็นได้ว่ากิจกรรมการรวมกลุ่มต่างๆ ของชาวบ้านกุดชุม ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา ได้เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชุมชน ในขณะเดียวกันเป็นการสะท้อนถึงความพยายามในการพึ่งตนเองของชาวบ้าน  ผลจากการสัมมนาข้างต้นชี้ให้เห็นว่าต่อปัญหาหนี้สิน กิจกรรมหนึ่งที่จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้คือการสร้างระบบการแลกเปลี่ยนในชุมชน ดังนั้นระบบเงินตราชุมชนซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ในการสร้างระบบแลกเปลี่ยนในชุมชนจึงเป็นกลไกหนึ่งในการเสริมกระบวนการพัฒนาของชุมชนกุดชุม

การจัดตั้งระบบเงินตราชุมชนในกุดชุม

แนะนำแนวคิดระบบเงินตราชุมชน

            ในเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 2542 เจ้าหน้าที่โครงการร่วมกับนักพัฒนาในพื้นที่แนะนำแนวคิดระบบเงินตราชุมชน โดยใช้การประชุม การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ(โสเหล่) และการเล่นบทบาทสมมติ กับคนหลายกลุ่มในหลายหมู่บ้านเช่น แกนนำชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอื่นๆ เช่นกลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน เจ้าหน้าที่โรงสี เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพวัดท่าลาด กลุ่มเยาวชน กลุ่มพระสงฆ์ อบต.นาโส่ ครูโรงเรียนบ้านโสกขุมปูน ร้านค้าชุมชน

ทำการวิเคราะห์ชุมชนโดยชุมชน

            ชาวบ้านได้ร่วมกันทำการวิเคราะห์ชุมชน เพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์นั้นไปพัฒนากิจกรรมการรวมกลุ่มของชุมชนให้สอดคล้องกัน  กิจกรรมการวิเคราะห์ชุมชนที่ได้จัดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน มูลนิธิสุขภาพไทย ชมรมรักษ์ธรรมชาติ และโครงการระบบเงินตราชุมชน ได้แก่ งานสัมมนาเหลียวหลัง แลหน้า งานพัฒนากุดชุม (วันที่ 4-5 กันยายน 2542)  และการวิเคราะห์ฐานเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นในหมู่บ้านที่ดำเนินการระบบเบี้ยกุดชุม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านได้วิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนและหมู่บ้าน โดยได้เริ่มทำที่บ้านสันติสุข วันที่ 25-26 ตุลาคม 2542 สำหรับหมู่บ้านอื่นๆ อีก 4 หมู่บ้าน กำลังอยู่ในขั้นตอนวางแผนที่จะจัดกิจกรรม

การออกแบบและวางระบบเงินตราชุมชน

            หลังจากนั้นที่ได้แนะนำแนวคิดไปในหมู่บ้านและกลุ่มองค์ชุมชนต่างๆ จึงได้มีการรวมกลุ่มของผู้สนใจขึ้นเป็นคณะทำงานซึ่งส่วนหนึ่งประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน จำนวน 14 คน จาก 5 หมู่บ้าน เพื่อจัดตั้งระบบการแลกเปลี่ยนขึ้นในชุมชน 5 หมู่บ้าน คือ บ้านโสกขุมปูน บ้านท่าลาด บ้านสันติสุข ตำบลนาโส่ บ้านกุดหิน ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม และบ้านโคกกลาง ตำบลไผ่ อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร โดยคณะทำงานได้ร่วมกันประชุมเพื่อออกแบบและวางระบบเงินตราชุมชน ตั้งแต่กำหนดวัตถุประสงค์ รูปแบบ ชื่อเรียกสื่อกลางที่ใช้แลกเปลี่ยน และการบริหารจัดการระบบ

            สาเหตุที่ระบบเงินตราชุมชนได้จัดตั้งใน 5 หมู่บ้าน เนื่องมาจากเป็นพื้นที่ของกลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน เป็นชุมชนที่มีประสบการณ์ในการพัฒนามายาวนานและมีการผลิตที่หลากหลาย รวมทั้งแกนนำในชุมชนให้การยอมรับและร่วมมือในการตั้งระบบเงินตราชุมชน

วัตถุประสงค์ของระบบ

1. ด้านสังคม

1.1 เพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองในชุมชน ลดการพึ่งพาภายนอก

1.2 เพื่อสร้างกิจกรรมที่มีความหลากหลายและยั่งยืน

1.3 เพื่อสร้างความสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันระหว่างคนในชุมชน

2. ด้านเศรษฐกิจ

2.1 เพื่อลดจำนวนการไหลออกของเงินบาทและทรัพยากรไปนอกชุมชน

2.2 เพื่อให้สมาชิกมีเงินเก็บออม

การเลือกรูปแบบของระบบ

จากกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงรูปแบบของระบบแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมกับชุมชม สรุปว่ารูปแบบระบบบัตร(คูปอง)เหมาะสมที่สุดในการใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เนื่องจากสะดวกและเข้าใจได้ง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับระบบจดบันทึก

ที่มาของชื่อเบี้ยกุดชุม

ชื่อที่จะใช้เรียกสื่อในการแลกเปลี่ยนถูกเสนอมาอย่างหลากหลาย เช่น แอก หมาก กิโล เบี้ย บุญ หน่วย ถัง เป็นต้น ในที่สุดที่ประชุมคณะทำงานได้มีมติใช้ชื่อเรียกสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนของชุมชนว่า “เบี้ย” เนื่องจากมีความหมายที่ดี  “เบี้ย”ในภาษาอีสาน แปลว่า”ต้นกล้าของต้นไม้” ซึ่งเป็นคำที่สื่อความหมายถึงการเจริญเติบโตงอกงามของชุมชนในอนาคต ดั่งต้นกล้าที่จะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ต่อไป

การออกแบบเบี้ย

สมาชิกของชุมชนได้ร่วมกันคิดคำขวัญและวาดรูปแสดงถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นของชาวอีสาน เพื่อนำไปพิมพ์ลงในเบี้ย

การบริหารจัดการระบบเบี้ยกุดชุม

บทบาทคณะทำงาน  สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ

1.       การเงินการบัญชี ทำงานในธนาคารเบี้ยกุดชุม(ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มพัฒนาชุมชนพึ่งตนเอง) ทำหน้าที่ออกและรับฝากเบี้ยและทำบัญชีเบี้ย

2.       ฝ่ายส่งเสริม ทำหน้าที่ส่งเสริมให้มีการใช้เบี้ยอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างสมาชิก

3.       ฝ่ายประเมินผลและตรวจสอบ ทำหน้าที่ติดตามประเมินผลการใช้เบี้ย ตรวจสอบถึงปัญหาอุปสรรค

การใช้เบี้ย

1.       สมาชิกสามารถเบิกเบี้ยไปใช้ได้ไม่เกิน 500 เบี้ย

2.       สมาชิกหรือผู้ใดก็ตามที่ใช้เบี้ย จะนำเบี้ยไปแลกกับเงินบาทไม่ได้

3.       กรณีมีการเบิกหรือฝากเบี้ยจะไม่มีดอกเบี้ย ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

4.       การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการของสมาชิกสามารถเป็นไปได้ใน 3 กรณี คือ (1) ใช้เบี้ยเพียงอย่างเดียว (2) ใช้เบี้ยคู่กับเงินบาท และ(3) ใช้เงินบาทเพียงอย่างเดียว เช่น การซื้อนมถั่วเหลือง 1 ถุง ราคา 5 บาท    ผู้ซื้อจะจ่ายเป็นเงิน 5 บาท หรือจ่ายเป็นเงิน 2 บาทกับ 3 เบี้ย หรือจ่ายเป็นเบี้ยทั้งหมด 5 เบี้ยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย

การรับสมัครสมาชิก ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกต้องเป็นสมาชิกในชุมชน

กิจกรรมส่งเสริมการแลกเปลี่ยน

1.       ตลาดนัดชุมชน จัดทุกวันเสาร์หมุนเวียนกันใน 5 หมู่บ้าน เพื่อเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกในชุมชน

2.       ฝึกอบรมอาชีพเสริม ให้แก่สมาชิกในชุมชน เพื่อส่งเสริมการผลิตที่หลากหลาย สอดคล้องกับทรัพยากรในท้องถิ่น ตอบสนองความต้องการของชุมชน และทดแทนสินค้าที่ต้องนำเข้ามาจากนอกชุมชน

การดำเนินงานของระบบเบี้ยกุดชุม

ระบบเบี้ยกุดชุมได้เริ่มดำเนินการในวันที่ 29 มีนาคม 2543 โดยมีพิธีเปิดที่บ้านสันติสุข และมีการจัดตลาดนัดเพื่อให้สมาชิกนำสินค้ามาแลกเปลี่ยน การใช้เบี้ยกุดชุมได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างมากและนำเสนอเรื่องราวของเบี้ยกุดชุมอย่างกว้างขวาง ทำให้เป็นที่สนใจจากฝ่ายต่างๆ  อีกทั้งแนวคิดเรื่องระบบเงินตราชุมชนยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย ทำให้หลายฝ่ายที่ได้รับข้อมูลไม่เพียงพอและยังไม่เข้าใจในแนวคิดเกิดความเข้าใจผิดและมีมุมมองด้านลบ มีผลทำให้หน่วยงานราชการต่างๆ เข้าไปในพื้นที่เพื่อหาข้อมูลและตรวจสอบการใช้เบี้ยกุดชุม เช่น ส่วนราชการในอำเภอกุดชุมและจังหวัดยโสธร ตำรวจ ทหาร กอ.รมน. สำนักนายกรัฐมนตรี ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยมีข้อสงสัยเกรงว่าการใช้เบี้ยกุดชุมอาจจะละเมิดกฎหมาย เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและชุมชนอาจจะตั้งตนเป็นรัฐอิสระ  คลังจังหวัดยโสธรได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 18 เมษายน 2543 ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ขอให้พิจารณากรณีการใช้เบี้ยกุดชุม  ในวันที่ 21 เมษายน 2543 ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรื่องเบี้ยกุดชุมและได้ส่งเรื่องให้ธปท. กรุงเทพฯ พิจารณาต่อไป และเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 ที่ประชุมคณะผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมติว่าการใช้เบี้ยกุดชุมเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย 2 มาตรา คือมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.. 2501 ที่ว่าห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุแทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.. 2505 ที่ว่าบุคคลใดนอกจากธนาคารพาณิชย์จะใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า “ธนาคาร” มิได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 7 สิงหาคม 2543 แจ้งถึงผลการวินิจฉัยดังกล่าวถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คณะทำงานเบี้ยกุดชุมได้มีมติ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2543 ให้ระงับการใช้เบี้ยกุดชุมชั่วคราวอย่างเป็นทางการ (ซึ่งในทางปฏิบัติสมาชิกได้หยุดใช้เบี้ย หลังจากวันที่ 29 เมษายน 2543 เป็นต้นมา) และได้เปลี่ยนชื่อ”ธนาคารเบี้ยกุดชุม”เป็น”กลุ่มพัฒนาชุมชนพึ่งตนเอง”  และทางกลุ่มได้ขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความในการยื่นเรื่องถึงกระทรวงการคลังเพื่อให้พิจารณากรณีเบี้ยกุดชุมใหม่อีกครั้ง

จนถึงปัจจุบันกิจกรรมการใช้เบี้ยกุดชุมมีสมาชิกจำนวน 120 คน และมีสมาชิกที่นำเบี้ยออกจากกลุ่มไปใช้จำนวน 33 คน เป็นจำนวน 7,000 เบี้ย  มีการจัดตลาดนัดในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในชุมชน จำนวน 6 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม – 6 พฤษภาคม 2543 โดยมีการใช้เบี้ยกุดชุมในการแลกเปลี่ยนสินค้า จำนวน 4 ครั้ง เป็นช่วงเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม – 29 เมษายน 2543

ข้อเสนอแนะของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อกรณีเบี้ยกุดชุม

จากการพิจารณาเรื่องเบี้ยกุดชุมของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ว่าการใช้เบี้ยกุดชุมละเมิดกฎหมาย 2 มาตราข้างต้นนั้น ในการอัดรายการลานบ้านลานเมืองเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2543 ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทยได้เสนอทางออก 3 ประการ

1.       ให้ละเว้นการทำสิ่งผิดกฎหมายทั้ง 2 มาตรา คือเสนอให้เลิกใช้เบี้ยกุดชุมและไม่ใช้คำว่าธนาคาร

2.       ถ้าชุมชนเห็นว่าเบี้ยกุดชุมเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ชุมชนสามารถขออนุญาตใช้เบี้ยกุดชุมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

3.       เสนอให้ออกกฎหมายรับรอง

สรุป

จากประสบการณ์อันยาวนานในการพัฒนาของชุมชนกุดชุม การริเริ่มระบบเบี้ยกุดชุมเป็นกลไกหนึ่งที่มาเสริมกระบวนการพัฒนาของชาวบ้าน เพื่อแสวงหาการพึ่งตนเอง เป็นเครื่องมืออันล่าสุดของชุมชนที่พยายามใช้สร้างฐานทางสังคมและเศรษฐกิจภายใต้การพัฒนากระแสหลักที่ชุมชนเสียเปรียบ ไร้อำนาจต่อรอง และทรัพยากรถูกดูดออกไปนอกชุมชน 

คุณลักษณะสำคัญของการจัดตั้งระบบเบี้ยกุดชุม คือ

- การมีส่วนร่วมของชุมชน กล่าวคือชุมชนเป็นผู้ที่ตัดสินใจเลือกที่จะจัดตั้งระบบเงินตราชุมชนขึ้น ซึ่งเป็นการตกผลึกของชุมชนที่ได้ทบทวนการพัฒนาที่มาและหาทางแก้ไขปัญหาที่คาดว่าจะมีผลร้ายแรงต่อชุมชน ในขั้นตอนการจัดตั้งระบบเบี้ยกุดชุม ชาวบ้านยังได้ร่วมคิดและตัดสินใจในการออกแบบและวางหลักการบริหารจัดการระบบ  และชุมชนเป็นผู้ที่ดำเนินการระบบด้วยตนเอง  

- การผสานเนื้อหาทางด้านประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนเป็นพื้นฐานในการจัดตั้งระบบ โดยสะท้อนออกมาในภาพประกอบในเบี้ยที่แสดงถึงวิถีชีวิตชาวนา ประเพณีฮีตสิบสอง คองสิบสี่ คำกลอนอีสานหรือคำผญาที่สื่อด้านออกมาถึงการพึ่งตนเอง ตัวอย่างเช่น

“เพิ่งตนเองส่างมิตรไมตรี  พืชผักมีพ่อมกับของใช่  เก็บออมแลกเปลี่ยนกะได่  เงินบ่ไหลไปทางนอก”

“เฮามาพากันส่างชุมชนแบบใหม่ ซ่อยกันเก็บออมไว้ภายหน้าสิซำบาย สวนครัวเฮ็ดไว้ผักมี่ให้มีหลาย เหลือกินเฮาจั่งขายภายในชุมชนนั่น”

ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากระบบเบี้ยกุดชุมนั้นมากมาย  ได้แก่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านในเรื่องระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนและความเชื่อมโยงระหว่างระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนกับภายนอกชุมชน ลดการไหลออกของทรัพยากรท้องถิ่น กระตุ้นการผลิตของชุมชน การเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชน

สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถค้นหาได้ที่ http: //members.tripod.com/asiaccs และ http://www.appropriate-economics.org

หรือติดต่อได้ที่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา 693 ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ 10100 

โทรศัพท์ 621 7810-2  โทรสาร 621 8042-3 email: tccs@loxinfo.co.th


ภาคผนวก

ภาคผนวกที่ 1

ระบบเงินตราชุมชนในยุโรปและอเมริกาเหนือ

            ในยุโรปและอเมริกาเหนือ มีระบบเงินตราชุมชนที่ใช้กันแพร่หลาย โดยแบ่งแบบคร่าวๆ ได้เป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกและใหญ่ที่สุด ใช้หลักการสร้างเครดิต ได้แก่ ระบบ LETS และระบบค้าขายในชุมชนในลักษณะเดียวกับ LETS  ระบบเหล่านี้ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ในแคนาดา และ อังกฤษ และระบบที่พัฒนามาจาก LETS ที่ใช้ทั่วไปในยุโรป เช่น ระบบ Noppes ในเนเธอร์แลนด์  กลุ่มที่สองคือระบบ HOURS เป็นระบบ fiat (ซึ่งไม่สามารถนำเงินไปแลกเป็นทองคำ เหรียญ ฯลฯ ได้) มีการพิมพ์ธนบัตรท้องถิ่น จุดกำเนิดของระบบ HOURS อยู่ที่เมืองอิทาคา มลรัฐนิวยอร์ก ใช้กันแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา บางส่วนในแคนาดาและยุโรป กลุ่มที่สามเป็นระบบผสมโดยรวมเอาลักษณะของ LETS และ HOURS เอาไว้ด้วยกัน กลุ่มสุดท้าย ใช้แนวคิด ‘ธนาคารบริการชุมชน’ ระบบที่เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนี้ ได้แก่  Time Dollars

LETS

            LETS ค้นคิดโดย ไมเคิล ลินตัน (Michael Linton)  ในโคมอกซ์ วัลเลย์ เมืองคอร์ทีเนย์, บริติช โคลัมเบีย, ประเทศแคนาดา เมื่อ พ.. 2526 มีการใช้ระบบ LETS ในแคนาดามากกว่า 30 ชุมชน อังกฤษ 400 ชุมชน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์  300 ชุมชน และเกือบ 500 ชุมชน  ในยุโรป  โดยมีจำนวนสมาชิกต่างกันไปตั้งแต่ 20 ถึง 1,500 คน

            ในกระบวนการค้าขายในระบบ LETS นั้น บัญชีของสมาชิกจะเริ่มจากศูนย์  การแลกเปลี่ยนแต่ละครั้งจะเปลี่ยนแปลงตัวเลขในบัญชีในทางบวกหรือลบอย่างใดอย่างหนึ่ง คำว่าลบในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการถอนเกินบัญชีจนติดลบหรือเป็นหนี้ แต่เป็นรายการปกติของระบบบัญชี LETS ที่ให้สมาชิกสามารถสร้างเครดิตของตนเองได้ ตัวอย่างเช่นถ้าอริยะให้ข้าว 10 หน่วยแก่บุญรัก บุญรักก็จะรับสิ่งนี้โดยโอน 10 หน่วยในบัญชีของตนไปเข้าบัญชีของอริยะ บันทึกการแลกเปลี่ยนนี้จะส่งไปยังฝ่ายบริหารกลาง บัญชีของอริยะตอนนี้เป็นบวก 10 ในขณะที่ของบุญรักเป็นลบ 10  ต่อมาจิตราภาขอให้บุญรักช่วยซ่อมรถจักรยานยนต์ โดยตกลงกันว่าค่าแรงสำหรับงานนี้มีค่า 30 หน่วย ก็จะมีการโอน 30 หน่วยจากบัญชีของจิตราภาไปเข้าบัญชีของบุญรัก ซึ่งตอนนี้จะกลายเป็นบวก 20 ส่วนบัญชีของจิตราภาเป็นลบ 30

            เป็นไปได้ว่าบางส่วนของการแลกเปลี่ยนนี้จะต้องใช้เงินบาท เช่นในการซ่อมรถจักรยานยนต์ บุญรักอาจจะต้องซื้อชิ้นส่วนจากร้านค้านอกชุมชนซึ่งไม่รับหน่วยเงินชุมชน บุญรักกับจิตราภาอาจจะตกลงกันว่าส่วนใดในงานชิ้นนี้ที่มีการจ่ายเป็นเงินชุมชนและส่วนใดจ่ายเป็นเงินบาท โดยฝ่ายบริหารเงินตราชุมชนจะไม่ยุ่งเกี่ยวในส่วนของเงินสดในการทำรายการของสมาชิก

HOURS

            แนวคิดของ HOURS นั้นคิดค้นขึ้นโดย พอล โกลเวอร์ (Paul Glover) ในเมืองอิทาคา มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.. 2534 ระบบดั้งเดิมในอิทาคามีสมาชิกในขณะนี้มากกว่า 1,500 คนและมูลค่าการค้าขายเทียบได้ประมาณหลายแสนเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ระบบ HOURS แพร่หลายในชุมชนมากกว่า 50 แห่งในอเมริกาเหนือ

            สมาชิกชุมชนผู้สนใจจะเป็นสมาชิกของการค้าแบบ HOURS จะต้องกรอกแบบฟอร์มข้อมูลส่วนตัวรวมทั้งรายละเอียดของสินค้าและบริการที่จะเสนอขายและที่ตนต้องการ ข้อมูลนี้จะถูกส่งไปยังฝ่ายบริหารและจะมีการบันทึกเก็บไว้  จากนั้นจะทำการส่งเงิน HOURS ไปให้สมาชิกใหม่ตามจำนวนที่ตกลงกัน และเมื่อสมาชิกมีการแก้ไขรายการสิ่งของที่ต้องการและที่เสนอ ก็จะมีการส่งเงิน HOURSไปให้เพิ่ม ง่ายๆ เพียงเท่านี้ เงิน HOURS ก็จะสามารถใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

            ข้อตกลงอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่เข้าใจก็คือ เมื่อสมาชิกได้รับสิทธิในการใช้ HOURS ฟรี พวกเขาก็จะต้องยอมรับเงินนี้เพื่อแลกกับสินค้าและบริการที่พวกเขาเสนอขาย นั่นหมายความว่า เงิน HOURS จะได้รับการสนับสนุนด้วยข้อผูกพันว่าสมาชิกแต่ละคนต้องเต็มใจยอมรับ ถ้าสมาชิกปฏิเสธไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ค่าของ HOURS ก็จะลดลง ในทางกลับกัน ถ้าคนจำนวนมากขึ้นยอมรับการใช้เงิน HOURS แลกซื้อสินค้าและบริการที่หลากหลายขึ้น  ค่าของธนบัตรก็จะมากขึ้น นี่เป็นคุณลักษณะของเงิน LETS ด้วยเช่นกัน

ระบบผสม

            ระบบผสมเป็นความพยายามที่จะผสมผสานความสามารถของสมาชิก LETS ในการสร้างเครดิตเข้ากับความสะดวกสบายของ HOURS อธิบายให้ชัดขึ้นด้วยตัวอย่างของ ระบบ Guelph LETS ที่ใช้กันในเมืองเกวลฟ์ จังหวัดออนตาริโอ ประเทศแคนาดา

            Guelph LETS พิมพ์ธนบัตรดอลลาร์สีเขียวซึ่งสมาชิกสามารถถอนออกไปใช้ในการค้าภายในชุมชนได้ บัญชีของสมาชิกจะถูกหักออกตามมูลค่าที่ระบุบนธนบัตรแล้วไปเพิ่มเครดิตในบัญชีส่วนกลาง ที่น่าสนใจคือระบบนี้สามารถใช้ได้ในการค้าขายกับผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกด้วย เช่นเดียวกับในระบบ HOURS ที่สมาชิกสามารถทำธุรกิจโดยไม่ต้องเปิดบัญชี ธุรกิจระหว่างสมาชิกกับคนนอก หรือแม้แต่ระหว่างคนนอกด้วยกันเอง โดยใช้ธนบัตรจะไม่มีการบันทึก เมื่อมีรายการเกิดขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น ธนบัตรจะถูกใช้หมุนเวียนจนกระทั่งตกอยู่ในมือของสมาชิกที่ตัดสินใจจะฝากเงินเพิ่มในบัญชี ถึงจุดนี้บัญชีของสมาชิกก็จะมีเครดิตเพิ่มขึ้นตามมูลค่าบนธนบัตรโดยหักออกจากบัญชีส่วนกลางไปพร้อมกัน ธนบัตรเหล่านี้สามารถนำออกมาหมุนเวียนใหม่เมื่อมีสมาชิกอีกคนถอนออกมา

            ระบบผสมอื่นๆ ซึ่งมีหลักการคล้ายคลึงกับ Guelph LETS ได้แก่ ธนาคาร Tlaloc ในเม็กซิโกซิตี้ Talents ในสวิตเซอร์แลนด์ และระบบ Noppes ในเนเธอร์แลนด์

TimeDollars

            TimeDollars อยู่ในรูปแบบของธนาคารบริการชุมชนซึ่งริเริ่มโดยเอ็ดการ์ คาห์น (Edgar Cahn) ในกรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากองค์การรัฐบาลและเอกชนในสหรัฐอเมริกา และขณะนี้ทั่วทั้งสหรัฐฯ มีชุมชนที่ใช้ระบบนี้หลายร้อยแห่ง

            สมาชิกจะฝากเครดิตในรูปของ ‘ชั่วโมง’ ที่เพิ่มไปให้กับการทำงานช่วยเหลือโครงการหรือสมาชิกในชุมชน ผลก็คือ เขาจะได้รับความช่วยเหลือหรือบริการจากสมาชิกคนอื่นด้วยเครดิตเหล่านี้  ตัวอย่างเช่น สมาชิกคนหนึ่งได้รับเครดิต Time Dollars หนึ่งหน่วยจากการใช้เวลา 1 ชั่วโมงซ่อมจักรยานให้เพื่อนบ้าน ต่อมาเมื่อเขาต้องออกไปทานอาหารค่ำนอกบ้าน เขาสามารถใช้เครดิตที่เขามีอยู่ขอให้คนอื่นมาดูแลลูกให้เขาได้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง