จากบางระจันถึงกุดชุม เมื่อกรุงศรีฯระแวงไพร่

โดย วัลลภ  พิชญ์พงศ์ศา

โครงการระบบเงินตราชุมชน  สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

“ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่กำลังเกิดขึ้นใน 50 ปีหรือ 100 ปีข้างหน้า นี่เป็นความพยายามจะกู้ชาติให้พ้นภัยเศรษฐกิจ อยากให้พวกเราจดจำกันไว้ว่าชาวบ้านกุดชุม ถ้าเปรียบกับชาวบ้านบางระจันที่พยายามกู้ชาติครั้งที่ 2 การกู้ชาติครั้งที่ 3 คือชาวบ้านกุดชุม” รศ.ดร.กนกศักดิ์ แก้วเทพ

“เรื่องเบี้ยกุดชุมไม่ใช่เรื่องของการพยายามที่จะตั้งรัฐอิสระหรือว่าเป็นการพยายามจะแข็งข้อกับรัฐบาล แต่ความจริงแล้วเบี้ยกุดชุมเป็นเพียงผลที่เกิดจากเหตุ ซึ่งสะสมเป็นเวลาช้านาน ไม่ใช่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เท่านั้น แต่ว่าเกิดมาเป็น 10 ปีๆ … ชุมชนท้องถิ่นในขณะนี้ที่ทำแบบคล้ายๆ กุดชุมกำลังเป็นพลังที่จะกู้ชาติด้วยซ้ำไป” .เสน่ห์ จามริก

จากงานเสวนา “เบี้ยกุดชุม: ในฐานะเครื่องมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน” วันที่ 24 กันยายน 2543 ณ วัดสวนแก้ว

 
 

เกริ่นนำ

            มีความคล้ายกันประการหนึ่งระหว่างเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวบ้านที่คิดใช้เบี้ยกุดชุมในจังหวัดยโสธรในปัจจุบันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านบางระจันในประวัติศาสตร์ นั่นคือความระแวงจากเมืองหลวงหรือศูนย์กลางการปกครองที่มีต่อไพร่หรือชาวบ้าน จากบทความเรื่องบางระจัน (ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันจันทร์ที่ 22 มกราคม 2543) .นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุว่า “ในทรรศนะของกรุงศรีฯ ชาวบ้านระจันเป็นกบฏไพร่ชนิดหนึ่ง” ซึ่งเป็นเหตุให้กรุงศรีฯ ไม่ยอมให้ปืนใหญ่แก่ชาวบ้านระจัน ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ธนาคารแห่งประเทศไทยมีทัศนะต่อกรณีการใช้เบี้ยกุดชุมที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเองวินิจฉัยว่าเข้าข่ายละเมิดกฎหมายว่า “จะก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสนและก่อความไม่สงบทางเศรษฐกิจได้ “(คำให้สัมภาษณ์ของนายสุกิจ สหนุกุล ผู้บริหารอาวุโสส่วนกำกับสถาบันการเงิน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันที่11 สิงหาคม 2543) และ “หากมีการใช้เบี้ยอย่างแพร่หลายและเกิดการพังทะลายของระบบการบริหารโครงการเบี้ยกุดชุมขึ้นก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบและความมั่นคงของเศรษฐกิจในประเทศได้ ซึ่งทางการจึงต้องมีภาระต้องเข้าไปติดตามและควบคุมการดำเนินการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด” (ส่วนหนึ่งของหนังสือแสดงความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องเบี้ยกุดชุมที่จะส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

            ถึงตรงนี้หลายคนทั้งที่เคยและไม่เคยรู้เรื่องเบี้ยกุดชุมมาก่อนอาจจะมีคำถามขึ้นในใจ "มันร้ายแรงขนาดนั้นเชียวหรือ ???"

นอกจากนี้ปฏิกิริยาของภาครัฐหลังจากทราบว่ามีการเริ่มใช้เบี้ยกุดชุม เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2543 ก็คือการหลั่งไหลของหน่วยงานรัฐทั้งหลายเข้าไปหาข้อมูลในชุมชนกุดชุม อันประกอบไปด้วย ส่วนราชการในอำเภอกุดชุมและจังหวัดยโสธร ตำรวจ ทหาร กอ.รมน. สำนักนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆที่จะติดตามว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในพื้นที่ แต่เจ้าหน้าที่บางหน่วยงานทำการข่มขู่ชาวบ้านว่าจะจับกุมถ้าเห็นการใช้เบี้ย  และเมื่อเร็วๆนี้ ประมาณกลางเดือนมกราคม 2544 ที่ผ่านมา มีชายคนหนึ่งบอกว่าตนเป็นนักศึกษาปริญญาโทจากอุบลราชธานีเข้ามาในชุมชนเพื่อหาข้อมูลเรื่องเบี้ยกุดชุม  และขอให้ชาวบ้านเอาป้าย”ธนาคารเบี้ย” ขึ้นแขวนเพื่อที่จะถ่ายรูป ชาวบ้านก็อธิบายว่าเขาเอาป้ายลงแล้ว เพราะใช้คำว่า “ธนาคาร” มันผิดกฎหมาย ด้วยท่าทีที่แปลกไปจากนักศึกษาทั่วไปที่เคยมาขอข้อมูล ชาวบ้านจึงเกิดความสงสัย และสักพักชายคนนั้นก็จากไปหลังจากได้ข้อมูลจากชาวบ้าน โดยมิได้เขียนสักตัวอักษรเดียวในสมุดเยี่ยมที่ชาวบ้านยื่นให้ จึงไม่รู้ชื่อเสียงเรียงนามของนักศึกษาคนนั้น วันรุ่งขึ้นชาวบ้านที่อยู่อีกหมู่บ้านใกล้ๆกันเล่าให้ฟังว่าเมื่อวานมีคนมาถามตนว่าทางไปหมู่บ้าน”ที่จะไม่ใช้เงินของราชการ” ไปทางไหน ทำให้ชาวบ้านมั่นใจมากขึ้นว่าคนที่มาหาพวกเขาเมื่อวานนี้คงจะไม่ใช่นักศึกษา

นี่คงสะท้อนให้เห็นได้ว่าทัศนะและการปฏิบัติของรัฐที่มีต่อกิจกรรมของชาวบ้านเป็นไปในทิศทางใด

บทความนี้จึงมีความตั้งใจที่จะนำเสนอคำอธิบายต่อความหวาดระแวง ข้อสงสัยต่างๆ รวมถึงข้อแนะนำเกี่ยวกับเบี้ยกุดชุม ที่มาจากภาครัฐและบุคคลต่างๆที่ได้รับรู้เรื่องราวของเบี้ยกุดชุม เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจในเรื่องเบี้ยกุดชุมกับสังคม และหวังว่าบทความนี้จะนำไปสู่การวิพากษ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสังคมวงกว้างต่อไป

อะไรคือเบี้ยกุดชุม

            เบี้ยกุดชุมถูกคิดขึ้นมาโดยชาวบ้านเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในชุมชน 5 หมู่บ้าน อันประกอบไปด้วย บ้านโสกขุมปูน บ้านท่าลาด บ้านสันติสุข บ้านกุดหิน อำเภอกุดชุม และบ้านโคกกลาง อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร

เบี้ยกุดชุมมีคุณลักษณะสำคัญคือ 1) ใช้แลกเปลี่ยนสินค้าในชุมชน 5 หมู่บ้านนี้เท่านั้น  2) ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ว่ากรณีฝากหรือยืม 3) ใช้ควบคู่กับเงินบาท ซึ่งการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการของสมาชิกสามารถทำได้ 3 วิธีคือ ใช้เบี้ยเพียงอย่างเดียว, ใช้เบี้ยคู่กับเงินบาท และใช้เงินบาทเพียงอย่างเดียว เช่น การซื้อน้ำเต้าหู้ 1 ถุง ราคา 5 บาท ผู้ซื้อจะจ่ายเป็นเงิน 5 บาท หรือจ่ายเป็นเงิน 2 บาทกับ 3 เบี้ย หรือจ่ายเป็นเบี้ยทั้งหมด 5 เบี้ยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แต่ 4) เบี้ยกุดชุมไม่สามารถแลกเปลี่ยนกับเงินบาทได้

คำถาม ข้อแนะนำและความเข้าใจผิดต่อเบี้ยกุดชุม

            ดังที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้นว่าได้มีความระแวงสงสัย มีคำถาม และมีประเด็นเกิดขึ้นมากมายต่อการใช้เบี้ยกุดชุม จึงได้รวบรวมและนำเสนอคำอธิบายดังต่อไปนี้

ทำไมต้องมีเบี้ย มีทางเลือกอื่นบ้างไหมที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง

             เป็นคำถามที่เกิดจากข้อสงสัยว่ามีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีการคิดเงินตราของชุมชนขึ้นมา  เมื่อบวกกับการติดขัดในข้อกฎหมายและความเป็นห่วงว่าจะเกิดผลกระทบและความเสียหายทั้งในระดับบุคคลผู้เป็นสมาชิกและระบบเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว (ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป) ทำให้มีคำถามตามมา คือถ้าทำอย่างนี้มันยุ่งยากแล้วมีทางเลือกอื่นไหม ขอแบ่งเป็นสองประเด็นคือ ทำไมถึงมีการคิดใช้เบี้ยกุดชุม และทางเลือกอื่นนอกจากการใช้เบี้ย

            ประเด็นแรก ต้องเข้าใจว่ามิใช่วันดีคืนดีชาวบ้านก็มารวมกลุ่มคุยกันว่าเราจะพิมพ์เงินใช้เอง แต่เบี้ยกุดชุมเกิดจากการตกผลึกและสรุปบทเรียนของการพัฒนากว่า 20 ปีของชุมชน ในเดือนกันยายน 2542 งานสัมมนา เหลียวหลัง แลหน้างานพัฒนากุดชุม ถูกจัดขึ้นเพื่อสรุปบทเรียนงานพัฒนาของชาวบ้านที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆมากมาย เช่น กองทุนร้านค้าชุมชน ศูนย์สุขภาพและพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพร การทำเกษตรอินทรีย์ โรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติ ศูนย์สาธิตเครือข่ายร้านค้าชุมชน กลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน ฯลฯ ในงานสัมมนาตัวแทนของชุมชนเห็นว่าปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ขณะนี้และในอีก 10ปีข้างหน้าก็คือหนี้สิน และทางออกทางหนึ่งก็คือการแลกเปลี่ยนในชุมชน   ซึ่งต่อมานำมาสู่การคิดสร้างระบบการแลกเปลี่ยนในชุมชน และคิดทำสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนขึ้นมา ซึ่งก็คือเบี้ยกุดชุม

            ประเด็นที่สอง การพัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็งมีเครื่องมือหรือทางเลือกอยู่มากมายให้เลือกใช้ เช่นเกษตรทางเลือก ภูมิปัญญาท้องถิ่น ธุรกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ การแพทย์พื้นบ้าน ตลาดทางเลือก เป็นต้น การที่จะเลือกใช้เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งต้องคำนึงถึงพื้นฐานและความพร้อมของชุมชน และความเหมาะสมในบริบทของชุมชนนั้นๆ และเครื่องมือเหล่านี้อาจจะต้องใช้ประกอบกัน เพื่อเสริมซึ่งกันและกัน และเบี้ยกุดชุมก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ชุมชนเลือกที่จะใช้ เพื่อนำมาเสริมกิจกรรมการพัฒนาที่มีอยู่เดิมในชุมชน ดังนั้นประเด็นที่เกี่ยวพันตามมาในเรื่องเบี้ยกุดชุมคือเราต้องทำความเข้าใจและเคารพการตัดสินใจของชาวบ้าน เคารพสิทธิชุมชน และการมีอิสระในการจัดการปัญหาของชาวบ้านเอง

ถ้ามีระบบเบี้ยอย่างนี้กระจายไปในหลายๆ ชุมชน จะมีผลกระทบกับระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่

มีความเป็นห่วงว่าถ้าระบบในลักษณะแบบเบี้ยกุดชุมได้รับความนิยมขึ้นมา และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศพากัน”พิมพ์แบงก์ของตนเองขึ้นมาใช้” อาจจะทำให้ปัญหาต่างๆ ตามมาหรือไม่ เช่น ทำให้เกิดเงินเฟ้อ มีผลกระทบต่อค่าเงินบาท สร้างความสับสนในระบบเศรษฐกิจ เท่าที่รับทราบจากประสบการณ์ในต่างประเทศที่ดำเนินการระบบเงินตราชุมชน เช่นแคนาดา สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเม็กซิโก ผลกระทบที่เป็นห่วงข้างต้นมิได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด และปริมาณเงินตราชุมชนที่ใช้อยู่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณเงินประจำชาตินั้นๆ แต่ผลดีที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนนั้นมากมาย อันได้แก่กระตุ้นการผลิตและการแลกเปลี่ยนในชุมชน เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรภายในชุมชน สร้างงานในชุมชน ฯลฯ

อย่างไรก็ตามในกรณีเบี้ยกุดชุมนั้นควรมีการพิสูจน์ โดยการทดลองใช้และมีการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระดับชุมชนและประเทศ เพื่อขจัดข้อสงสัยต่างๆ ดังนั้นภาครัฐจึงน่าจะให้โอกาสชาวบ้านที่จะทดลองเพื่อศึกษาผลการใช้เบี้ยกุดชุม

และถ้าพูดให้ถึงที่สุดแล้ว ถ้าการใช้ระบบเงินตราชุมชนมีส่วนช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ และช่วยเสริมให้ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศเข้มแข็งขึ้น ประเทศโดยรวมก็จะเข้มแข็งขึ้นด้วย

เบี้ยกุดชุมมีอะไรหนุนหลัง (Backing)

เมื่อพิจารณาหลักการออกธนบัตรของประเทศไทย การพิมพ์เงินบาทออกใช้ต้องมีเงินตราต่างประเทศมาหนุนหลัง เมื่อมองเบี้ยกุดชุมว่าเป็น"เงิน"ที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้ในชุมชน คำถามที่ตามมาก็คือ ”เบี้ยกุดชุมมีอะไรหนุนหลัง” สิ่งที่หนุนหลังเบี้ยกุดชุมไม่ใช่ทองคำหรือเงินบาท แต่เป็นความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในชุมชนและทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ เบี้ยกุดชุมถูกคิดขึ้นมาเพื่อที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (มิได้เป็นเครื่องสะสมมูลค่า ดังนั้นจะสะสมไว้มากๆก็จะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากเบี้ยที่สะสมไว้ไม่งอกเงยเพิ่มขึ้นมาเพราะว่าไม่มีดอกเบี้ย) ซึ่งถ้ามองลึกลงไปแล้วการแลกเปลี่ยนกันเองในชุมชนสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการใช้เงิน แต่ชุมชนนั้นๆ ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างสมาชิกในชุมชน ถ้าจะเทียบกับการที่ใช้ดอลล่าร์สหรัฐมาหนุนหลังเงินบาท และถามว่าแล้วอะไรที่หนุนหลังดอลล่าร์เหล่านั้น คำตอบคือไม่มี ประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถพิมพ์ธนบัตรของตนเองออกมาตามที่ตนเองต้องการโดยไม่มีอะไรหนุนหลัง แต่ทั่วโลกยังให้การยอมรับเงินสกุลนี้ เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยีหรือแม้แต่การทหาร 

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการล้มของระบบและความรับผิดชอบ

            เป็นความเป็นห่วงต่อเนื่องที่ว่าเบี้ยกุดชุมไม่มีเงินบาทมาหนุนหลัง เท่ากับว่าไม่มีหลักประกันเป็นเงินบาท และคิดต่อไปว่าถ้าเกิดการล้มของระบบจะทำให้เกิดความเสียหายและความสูญเปล่าแก่สมาชิก ตัวอย่างเช่นถ้าคุณบุญเลิศมีเบี้ยจำนวน 200 เบี้ย และระบบเบี้ยกุดชุมเกิดล้มขึ้นมาจะทำให้คุณบุญเลิศได้รับความเสียหาย เนื่องจาก 200 เบี้ยที่มีอยู่ในกระเป๋าไม่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนได้อีกต่อไปและเบี้ยก็ไม่สามารถแลกกลับไปเป็นเงินบาทได้ และยิ่งมีความเป็นห่วงมากขึ้นถ้าคุณบุญเลิศมีเบี้ยเป็นหมื่นเป็นแสนขึ้นมาจะยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่คุณบุญเลิศอย่างมหาศาล

            ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่าชาวบ้านคาดหวังว่าระบบเบี้ยกุดชุมจะเป็นระบบที่ยั่งยืน และสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนในอนาคตต่อๆไป แต่สมมติว่าเกิดเหตุสุดวิสัยทำให้ระบบเบี้ยกุดชุมเกิดล้มขึ้นมาจะเกิดผลเสียหายอย่างไร จะขอทำความเข้าใจต่อความเป็นห่วงข้อนี้เป็นสองประการ

ประการแรก เบี้ยเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น ไม่มีดอกเบี้ย ฉะนั้นจะไม่ถูกเก็บสะสมไว้มากๆ กรณีอย่างคุณบุญเลิศที่จะมีเบี้ยเก็บไว้เป็นหมื่นเป็นแสนจะไม่เกิดขึ้น เพราะถ้าจะเก็บสะสม คุณบุญเลิศจะเก็บออมเงินบาท

ประการที่สอง ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการล้มของระบบเบี้ยนั้น ชุมชนมีความสามารถที่จะดูแลได้ เพราะเบี้ยถูกใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ผลิตขึ้นในชุมชน ฉะนั้นเบี้ยที่มีเหลืออยู่ในมือของสมาชิกสามารถถูกทดแทนได้ด้วยสินค้าและบริการที่มีอยู่ในชุมชน

           เปลี่ยนจากเบี้ยมาเป็นคูปองจะดีไหม   

            เพื่อให้ห่างไกลความผิดทางกฎหมายและสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ถือกฎหมายมากยิ่งขึ้น หลายคนได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นคูปองกุดชุมบ้าง คูปองพึ่งตนเองบ้าง เพราะเมื่อแรกได้ยินคำว่า ”เบี้ย” ทำให้นึกถึงชื่อเรียกเงินสมัยโบราณ ซึ่งอาจสร้างความสับสนและทำให้บางคนอาจจะเข้าใจว่าชาวบ้านพยายามจะสร้างเงินของตนเองขึ้นมาและคิดเลยเถิดไปว่าชาวบ้านอาจจะคิดตั้งตนเป็นรัฐอิสระ นอกจากนี้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่ารูปแบบเบี้ยเหมือนธนบัตรมากเกินไป ถ้าเปลี่ยนรูปแบบอาจจะถูกเพ่งเล็งน้อยลง

            ในประเด็นชื่อ”เบี้ย” คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่า ที่ชาวบ้านตั้งชื่อเรียกสื่อแลกเปลี่ยนของเขาว่า ”เบี้ย” เพราะในภาษาอีสาน เบี้ยหมายถึงต้นกล้าของต้นไม้ ซึ่งสื่อถึงความเจริญงอกงามของชุมชน ดั่งต้นกล้าที่จะโตเป็นต้นไม้ใหญ่ (ซึ่งไปพ้องเสียงกับภาษากลางที่เป็นคำเรียกเงินสมัยโบราณ) แสดงให้เห็นว่า “เบี้ย” มีความหมายที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ ซึ่งถูกคิดขึ้นมาโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านและทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชน กล่าวคือนำภาษาท้องถิ่นมาใช้ให้มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ที่สื่อถึงการพัฒนาและการงอกงามของชุมชน ถึงอย่างไรก็ตามชาวบ้านมิได้ดื้อดึงที่จะไม่เปลี่ยนชื่อและรูปแบบของเบี้ยและเคยบอกว่า ”ในเมื่อผิดกฎหมาย ก็อยากจะให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยบอกมาว่าทำแบบไหนไม่ผิดกฎหมาย ก็พร้อมจะเปลี่ยน” แต่ตอนนี้ยังไม่เปลี่ยนเพราะไม่แน่ใจว่าถ้าเปลี่ยนชื่อเรียกหรือรูปแบบแล้วจะยังผิดกฎหมายอีกหรือไม่

มีหลายคนที่เสนอให้วิธีการนำออกใช้เบี้ยเหมือนคูปองคือนำเงินบาทไปแลกเบี้ยออกมาใช้ เพราะเห็นห้างสรรพสินค้าทำได้ไม่มีใครว่าผิดกฎหมาย ดังนั้นเมื่อเบี้ยกุดชุมดำเนินการเหมือนคูปอง ถ้าบอกว่าผิดกฎหมาย คูปองที่ใช้ในห้างสรรพสินค้าก็ต้องผิดเหมือนกัน เบี้ยกุดชุมกับคูปองนั้นมีทั้งความเหมือนและความต่างอยู่หลายประการ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงความแตกต่างที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ เบี้ยไม่ต้องเอาเงินบาทไปแลกเหมือนที่ทำกันในการแลกคูปองมาใช้ ในทางตรงกันข้ามชุมชนได้ตั้งระเบียบไว้ว่าห้ามแลกเปลี่ยนกันระหว่างเบี้ยกับบาท เมื่อชาวบ้านต้องการเบี้ยออกมาใช้ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกระบบเบี้ยและถอนเบี้ยจากคณะทำงาน โดยต้องชำระคืนเมื่อครบปี ถ้ากำหนดว่าต้องนำเงินบาทไปแลกเบี้ยมาใช้ จะไม่สามารถบรรเทาปัญหาหนึ่งที่ชุมชนกำลังประสบคือ ความขาดแคลนเงินและความยากในการหาเงิน แหล่งที่มาสำคัญของเงินบาทที่จะเข้ามาในชุมชนมีสองทางคือ การขายสินค้าและแรงงาน เพื่อแลกกับเงินบาทเข้ามา และเงินกู้  ด้วยราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอนและตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านขาดทุน ซึ่งแน่นอนว่าชาวบ้านต้องกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ข้างนอกเพื่อนำมาลงทุนในการทำการเกษตรและต้องใช้คืนพร้อมกับดอกเบี้ย เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าชาวบ้านต้องตกอยู่ในวงจรหนี้สินอย่างยากที่จะหลุดออกมาได้  นี่แสดงให้เห็นถึงความหายากของเงินสำหรับชาวบ้าน ดังนั้นถ้าให้ชาวบ้านต้องนำเงินบาทมาแลกเบี้ยออกมาใช้ จะมิได้ช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวของชาวบ้าน

ในแง่กฎหมาย ก็มีข้อสงสัยอยู่ว่าถ้าพิจารณามาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ที่ว่าห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุแทนเงินตรา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คูปองที่ใช้อยู่ทั่วไปน่าจะเข้าละเมิดกฎหมายเช่นกัน เพราะถือได้ว่าเป็นการออกวัตถุใช้แทนเงินตรา และในกฎหมายก็มิได้มีข้อยกเว้นที่ว่าถ้าใช้เงินบาทไปแลกหรือกำหนดให้มีอายุเพียงวันเดียวจะไม่ผิดกฎหมาย  นอกจากนี้ยังมีการออกวัตถุซึ่งใช้แทนเงินตราในรูปแบบต่างๆ เช่น บัตรเครดิต(ซึ่งออกโดยธนาคาร บริษัทเอกชน และห้างสรรพสินค้า) บัตรกำนัลต่างๆ  หรือแม้แต่แสตมป์เซเว่น อีเลเว่น ที่โฆษณาออกโทรทัศน์และมีป้ายประกาศอยู่ทุกสาขา (รวมถึงสาขาที่อยู่ตรงข้ามธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย) ว่า “มีค่าแทนเงิน” ก็น่าจะเข้าข่ายละเมิดกฎหมายด้วยเช่นกัน

คำลงท้าย

            เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2543 สภาทนายความได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านกุดชุมในการยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อขอให้พิจารณาการใช้เบี้ยกุดชุมว่าเข้าข่ายต้องขออนุญาตรัฐมนตรีหรือไม่ และถ้าต้องขออนุญาต จะมีขั้นตอนอย่างไร จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 4 เดือนที่ชาวบ้านยังมิได้รับคำตอบใดๆจากทางภาครัฐ

            ในอีก 50 ปีหรือ 100 ปี ข้างหน้า ถ้าลูกหลานของเราได้มองย้อนมาดูประวัติศาสตร์ของวีรกรรมชาวบ้านบางระจันครั้งรบกับพม่ากับชาวบ้านกุดชุมท่ามกลางสงครามเศรษฐกิจในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ก็จะพบว่าไพร่หรือชาวบ้านในประวัติศาสตร์ทั้งสองเหตุการณ์ประสบกับความระแวงจากเมืองหลวงเหมือนกัน แต่ในกรณีหลังจะอยู่ในสถานการณ์ที่แย่กว่าเพราะดูเหมือนว่าไม่ใช่แค่เมืองหลวงจะไม่ยอมให้ปืนใหญ่แก่ชาวบ้าน (จริงๆ ชาวบ้านก็ไม่ได้ขออาวุธอะไร) แต่กลับจะยึดและทำลายธนูและดาบของชาวบ้านที่ช่วยกันคิด ช่วยกันทำขึ้นมาเพื่อที่จะใช้ปกป้องรักษาที่มั่นสุดท้ายของตนเอง

สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประเด็นในบทความนี้ ติดต่อได้ที่ โครงการะบบเงินตราชุมชน สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา 693 ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ 10100  โทรศัพท์ 621 7810-2  โทรสาร 621 8042-3 email: tccs@loxinfo.co.th

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบเงินตราชุมชนและเบี้ยกุดชุม สามารถค้นหาได้ที่  http://www.appropriate-economics.org